วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

3.  ความเป็นมาและแนวคิดในการจัดการ
                แนวคิดในการจัดการ แบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ แนวคิดคลาสสิก แนวคิดพฤติกรรมมนุษย์ และแนวคิดการจัดการสมัยใหม่
                กลุ่มคลาสสิกมีแนวคิดหลักในการจัดการที่เน้นการแยกการบริหารออกจากการเมือง โดยมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ การจัดการเชิงบริหาร และการจัดการตามแนวคิดของระบบราชการ
                กลุ่มพฤติกรรมมนุษย์เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ กลุ่มนี้มองว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นทรัพยากรที่มีความรู้สึกนึกคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ แนวคิดจิตวิทยาอุตสาหกรรม พฤติกรรมมนุษย์ เป็นต้น
                กลุ่มการจัดการสมัยใหม่เน้นการสร้างระบบการจัดการทำงานโดยนำความรู้ในทางคณิตศาสตร์ สถิติ วิศวกรรม การบัญชี เข้ามาช่วยในการจัดการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดวิทยาการจัดการ           การบริหารศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ แนวคิดเชิงสถานการณ์ และแนวคิดเชิงระบบ
                หลักสำคัญของการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ มี หลักเรื่องเวลา หลักการกำหนดหน่วยการจ้าง หลักการแยกงานวางแผนออกจาการปฏิบัติ หลักการทำงานแบบวิทยาศาสตร์ หลักการควบคุมโดยฝ่ายจัดการ หลักการจัดระเบียบในการปฏิบัติงาน
                การจัดการเชิงบริหาร มีหลักการสำคัญคือ การวางแผน การจัดหน่วยงาน การบังคับบัญชา การประสานงานและการควบคุม
                การจัดการตามแนวคิดของระบบราชการ มีหลักการสำคัญ คือ การแบ่งแผนกในองค์กรไว้          อย่างชัดเจนแน่นอน การจัดหน่วยงานเป็นลำดับชั้น การกำหนดกฎระเบียบเพื่อใช้ในการควบคุมดูแล        การจำแนกสิทธิและทรัพย์สินส่วนบุคคลออกจากองค์กร การกำหนดวิธีการคัดเลือกหรือสรรหาบุคลากร  การทำงานในองค์กรสามารถยึดเป็นอาชีพได้
                การจัดการจิตวิทยาอุตสาหกรรมเป็นแนวคิดของนักวิชาการชาวปรัสเซียชื่อ ฮิวโก เมาน์สเตอร์เบิร์ก (Hugo  Mounsterberg) โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เพราะมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีทักษะทางร่างกายและมีใจรักที่จะทำงานดังกล่าว แนวคิดนี้จึงพยายามศึกษาและทดสอบ เพื่อคัดเลือกคนงานเข้าทำงานด้วยการทดสอบทางจิตวิทยาด้วย
                การศึกษาที่ฮอว์ธอร์น (Hawthorne  Studies) เป็นการศึกษาของเอลตัน เมโยล์ ได้ทำการศึกษาทดลองทัศนคติและจิตวิทยาของคนงานในการทำงานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยได้เน้นความสนใจในเรื่องบรรยากาศการจัดการและภาวะผู้นำ ทำให้พบว่า
  1. คนเป็นสิ่งมีชีวิตมีจิตใจ การสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญของการทำงาน
  2. การให้รางวัลทางใจ เช่น การยกย่องชมเชย การให้เกียรติ มีผลต่อการทำงานไม่น้อยไปกว่าการจูงใจด้วยเงิน
  3. ความสามารถในการทำงานของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมของหน่วยงานด้วย เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนงาน เป็นต้น
  4. อิทธิพลของกลุ่มมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน จึงมุ่งเน้นที่จะให้มี     การทำงานเป็นทีม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แนวคิดเชิงสถานการณ์เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แวดล้อมองค์กร ดังนั้นผู้จัดการจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการของตนเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นได้ แนวคิดนี้มีจุดเด่นคือ ไม่เชื่อในหลักการสากล แต่มุ่งเน้นความเป็นสากลของสถานการณ์ เพราะเชื่อว่าไม่มีหลักการใดที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการองค์กรได้ทุกองค์กร ดังนั้นการจัดการแต่ละองค์กรจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมขององค์กรนั้น ๆ
แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงกรอบปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ทฤษฎีหรือแนวคิดที่นำมาใช้ในการจัดการได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น